ทุกคนต้องรู้จักคำว่า “มรดก” กันเเน่ๆ ก็เเหม่ได้ยินกันบ่อยๆ ในละครว่าเจ้าคุณปู่ เจ้าคุณป้าจะยกมรดกให้ เเถมเป็นเรื่องราวฆ่ากันตายเเย่งชิงกันอีก แล้วทำไมถึงพูดเรื่องมรดกขึ้นมา..ก็เพราะวันนี้เราจะมาพูดถึงรายละเอียดเรื่อง “การรับมรดกที่ดิน” นั่นเอง อะไรที่ควรทราบ เอกสารหลักฐานอะไรที่ต้องเตรียมไปด้วย ฯลฯ ใครที่กำลังจะได้มรดก มาดูรายละเอียดเลย
หลักการรับมรดกที่ควรทราบ
เมื่อเจ้ามรดกถึงแก่กกรม ผู้มีสิทธิรับมรดกจะเป็นใครนั้นขึ้นอยู่กับว่าผู้ตายได้ทำพินัยกรรมก่อนตายหรือไม่เป็นสำคัญ ถ้าทำไว้ทรัพย์มรดกก็ตกไปให้คนนั้น แบบนี้เรียกว่าผู้รับพินัยกรรมหรือทายาทโดยพินัยกรรม
เเต่!..ถ้าผู้ตายไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ล่ะ หรือเกิดทำแล้วเเต่พินัยกรรมนั้นไม่มีผลตามกฎหมายไม่ว่าจะด้วยเหตุใดก็ตาม ทรัพย์มรดกจะตกเป็นของทายาทตามกฎหมายเลยจ้า หรือเรียกว่าทายาทโดยธรรม ซึ่งจะมีอยู่ 7 ลำดับ เเต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้
- ลูก (บุตรชอบโดยกฎหมายและบุตรบุญธรรมของเจ้าของมรดก)
- ภริยาหรือสามี (ต้องจดทะเบียนสมรส)
- บิดา มารดา
- พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน
- พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน
- ปู่ ย่า ตา ยาย
- ลุง ป้า น้า อา
ทั้งนี้ตามกฎหมาย หลักในการได้รับส่วนแบ่งมรดกคือญาติลำดับเดียวกันจะได้รับส่วนแบ่งเท่ากัน
✱ หากเจ้ามรดกมีคู่สมรส (สามีหรือภรรยา) เเละมีลูก
คู่สมรสจะได้สิทธิเท่ากับลูกคนหนึ่ง
นาย A มีภรรยา และลูก 3 คน ตอนตายมีทรัพย์สิน 4,000,000 บาท ดังนั้นภรรยาเเละลูกจะได้ทรัพย์สินเท่ากัน คือคนละ 1,000,000 บาท
✱ หากเจ้ามรดกไม่มีลูก เเต่มีพ่อแม่ หรือมีพี่น้องพ่อเดียว แม่เดียว และมีคู่สมรส
คู่สมรสจะได้ครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งแบ่งกันระหว่างญาติ
นาย B มีพ่อ แม่ คู่สมรส ตอนตายมีทรัพย์สิน 4,000,000 บาท ดังนั้นภรรยาจะได้ทรัพย์สิน 2,000,000 บาท ที่เหลือพ่อแม่ได้เท่าๆ กันคือคนละ 1,000,000 บาท
✱ หากเจ้ามรดกไม่มีทายาทลำดับที่ 1, 2, 3, 4 เเต่มีทายาทลำดับที่ 5 คือพี่น้องพ่อเดียวกันหรือเเม่เดียวกัน หรือลำดับที่ 6, 7 คือปู่ ย่า ตา ยาย และลุง ป้า น้า อา คู่สมรสได้มรดก 2 ใน 3 ส่วน อีก 1 ใน 3 ส่วนให้แก่ญาติไปแบ่งกัน
✱ ถ้าไม่มีทายาทซึ่งเป็นญาติ มรดกตกแก่คู่สมรสทั้งหมด
ขั้นตอนการรับมรดกที่ดิน
ผู้มีสิทธิได้รับมรดกที่ดินจะต้องไปขอจดทะเบียนรับโอนมรดกที่ดินนั้นที่สำนักงานที่ดินจังหวัด หรือสำนักงานที่ดินสาขา ในกรณีมีเอกสารเป็นโฉนดที่ดิน น.ส.3 ข. และสำนักงานที่ดินอำเภอ ในกรณีมีเอกสารเป็น น.ส.3, น.ส.3 ก. ถ้าท้องที่ใดที่ได้ประกาศกระทรวงมหาดไทยยกเลิกอำนาจหน้าที่ของนายอำเภอเกี่ยวกับการปฏิบัติการตามกฎหมายที่ดินเเล้ว ไม่ว่าที่ดินจะเป็นโฉนดที่ดิน น.ส.3 หรือ น.ส.3 ก., น.ส.3 ข. จะต้องไปจดทะเบียนที่สำนักงานที่ดินจังหวัด หรือสำนักงานที่ดินจังหวัดสาขาที่ที่ดินตั้งอยู่
หลักฐานที่ต้องนำไปประกอบขอรับมรดก
- โฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองทำประโยชน์
- บัตรประจำตัว
- ทะเบียนบ้าน
- หลักฐานการตายของเจ้ามรดก เช่น ใบมรณบัตร
- พินัยกรรม (ถ้ามี)
- ถ้าผู้ขอรับมรดกในฐานะเป็นคู่สมรสต้องมีหลักฐานการสมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย
- ถ้าผู้ขอรับมรดกเป็นบิดาเจ้ามรดกต้องมีทะเบียนสมรมกับมารดาเจ้ามรดกหรือหลักฐานการรับรองบุตร
- กรณีบุตรบุญธรรมเป็นผู้ขอรับมรดกต้องแสดงหลักฐานการจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรม
- ถ้ามีกรณีพิพาทเกี่ยวกับมรดกต้องเเสดงหลักฐานการจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรม
- ถ้ามีสิทธิรับมรดกร่วมกันหลายคน บางคนได้ถึงเเก่กรรมไปแล้ว ต้องมีหลักฐานการตายของทายาทนั้นๆ
ในกรณีที่มีผู้จัดการมรดก หลักฐานที่ต้องไปคือ
คำสั่งศาลหรือคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุด หรือพินัยกรรมซึ่งตั้งให้ผู้ขอเป็นผู้จัดการมรดก
- หลักฐานการตายของเจ้ามรดก
- ทะเบียนบ้านเเละบัตรประจำตัวของผู้จัดการมรดก
- โฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์
ค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนจะเสียค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง
- ค่าคำขอแปลงละ 5 บาท
- ค่าประกาศมรดกแปลงละ 10 บาท
- ค่าจดทะเบียนผู้จัดการมรดกแปลงละ 50 บาท
- ค่าจดทะเบียนโอนมรดก ร้อยละ 2 ตามราคาประเมินทุนทรัพย์
- ในกรณีโอนมรดกระหว่างบุพการีกับผู้สืบสันดาน หรือระหว่างคู่สมรส เรียกตามราคาประเมินทุนทรัพย์ร้อยละ 0.5
ที่มา : หนังสือกลยุทธ์นอกตำรา การลงทุนอสังหาริมทรัพย์แบบเซียน
ติดตามข้อมูลโครงการและความเคลื่อนไหวด้านอสังหาฯมือสอง www.home2nd.com และ www.facebook.com/Home2ndcom
วันที่แก้ไขข้อมูลล่าสุด : 17/09/2562
ติดตามข้อมูลโครงการและความเคลื่อนไหวด้านอสังหาฯ มือสอง www.home2nd.com และ www.facebook.com/Home2ndcom